Wednesday, November 17

เป็นผู้นำ ไม่ใช่การ“แข่งความป๊อปปูล่า”

Leadership is not a popularity contest

ไม่ต้องห่วงถ้าลูกทีมไม่ชอบคุณ แต่จงห่วงถ้าเขาไม่ “เคารพ”คุณ

ตอนเริ่มอาชีพ ผมเคยคิดแบบผิดๆว่า ผู้นำที่ดีที่สุด คือ ผู้นำที่มีคนชอบมากที่สุด
แต่มีประสบการณ์มากขึ้นถึงได้เรียนรู้ว่า ผู้นำไม่สามารถทำให้ทุกคน happyได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจ คือ ทำสิ่งที่ถูกต้อง
นั่นเป็นสิ่งแรก !

ถ้าลูกน้องไม่ชอบคุณ คุณยังทำงานได้
แต่ถ้าลูกน้องไม่ “เคารพ”คุณ คุณทำงานให้ได้ผลไม่ได้!

วิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกทีม “เคารพ”คุณ คือ ตัดสินใจทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อส่วนรวม
วิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกทีม “ไม่เคารพ”คุณ คือ ตัดสินใจผิด หรือ ไม่ตัดสินใจ เพราะต้องการทำให้ลูกทีมชอบตัวคุณ

จงจำไว้ว่า ถ้าคุณเป็นผู้นำใหม่ คุณมีอะไรที่ต้อง “พิสูจน์”ตนเองเยอะ
เนื่องจากผมเจอวงใหม่บ่อยมาก จึงเรื่องนี้มากกว่าคนทำงานธรรมดา
ต้องพิสูจน์ตนเองกับคนที่แก่กว่า เก๋ากว่า บ่อยครั้ง

ย้อนไปปี ค.ศ. 1995 ผมได้รับตำแหน่งใหญ่ที่สุดตำแหน่งหนึ่งในอเมริกาสำหรับคอนดักเตอร์รุ่นใหม่
ตอนนั้นผมอายุ 25 ปี
ตำแหน่งที่ได้เป็นสองตำแหน่งควบ คือ ทั้งเป็นผู้อำนวยการดนตรี (Music Director) และคอนดักเตอร์ประจำ แห่งวง Debut Orchestra ในเมืองลอสแองเจลิส



ฉลองงานใหญ่--หนังสือพิมพ์ยักษ์ Los Angeles Times ให้เกียรติผม ลงหน้าปก Arts Section วันที่ 19 January 1997


กับออร์เคสตร้าในนครลอสแองเจลิส ค.ศ. 1996


เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก ประสบการณ์จากตำแหน่งนี้ได้ปั้นคอนดักเตอร์ก่อนหน้าผมหลายคนให้กลายเป็น International Star
กว่าจะสอบแข่งแย่งเขามาได้ ก็แทบแย่
ผมต้องใช้ “วิทยายุทธ์”ทุกชนิด เตรียมพร้อมเป็นเดือนๆ คนอื่นเขากลับบ้านช่วงปิดเทอม ผมไม่ยอมกลับ
งานนี้มีค่ามาก เพราะนั่นหมายความว่า ผมจะได้สัญญาแสดงคอนเสิร์ตกับวงออร์เคสตร้าชั้นเยี่ยมของอเมริกา ทั้งหมด 20 กว่าคอนเสิร์ต
(แถมเขายังเอาเงินมาให้ผมใช้อีก ตอนนั้นคิด ทำไมโชคดีอย่างนี้ ได้ทำงานที่ตนรัก แล้วได้เก่งขึ้นด้วย แถมยังมีคนจ่ายเงินซื้อประสบการณ์ให้เราอีก!)
เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีวงเป็นของตนเอง และตนต้องตัดสินใจเรื่องที่สำคัญอื่นๆ เช่น การสอบนักดนตรีเข้า (ปีหนึ่งต้องสอบคัดคนเก่งๆกว่า 300 คน) การจ้างคน การไล่คนออก การโปรโมทนักดนตรี ฯลฯ
เป็นบทบาทและความรับผิดชอบที่...บอกตรงๆ...ผมยังอ่อนหัดมาก
อยู่ดีๆ มีลูกน้องเป็นฝรั่ง 60 กว่าคน อายุรุ่นราวคราวเดียวกันหมด แก่กว่าก็มี
เป็นวัฒนธรรมที่ “ไม่คุ้น”ด้วย
เป็นฝรั่ง ก็เป็นวัฒนธรรมต่างจากเราอยู่แล้ว
ฝรั่งแบบลอสแองเจลิส ก็มีวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง
ผมว่าฝรั่งใน L.A. มีทัศนคติที่ “ข้ารู้ดี” “ข้าอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองหลวงแห่งการบันเทิงของโลก” อะไรประมาณนั้น จะไม่ “บ้านนอก” เหมือนคนที่มาจากเมืองเล็ก
ไอ้เราก็เติบโตจากเมืองไทย แถมยังเป็นคนไม่ปกติอีก คือ มนุษยสัมพันธ์ต่ำกว่ามาตรฐานคนไทย (รับตรงๆเลยว่า เป็นคนมีเพื่อนน้อย เพราะชอบสันโดษและกลัวการปฎิเสธ)
ผู้นงผู้นำ ไม่ต้องพูดถึง ตูอยู่คนเดียวดีกว่า สบายใจดี
พวกนักดนตรีในวง ก็มีส่วนหนึ่งที่ก้าวร้าวพอสมควร
เมื่อผมเริ่มงาน ก็มีความอยากที่จะ “ชนะใจ” ลูกน้องที่ต่างวัฒนธรรม และบุคลิกแข็งกร้าวกว่า
อยากให้เขาชอบ อยากให้เขาพูดถึงเราดีๆเวลาลับหลัง
แต่ต้องยอมรับว่า ทำผิดวิธี

ผิดอย่างไร


พยายาม “เกินไป” ที่จะให้ลูกน้องชอบ
พยายามทำตัวเป็นคน “ไม่มีอีโก้” พยายามเป็น “เผด็จการ”ให้น้อยที่สุด ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวไม่ป๊อปปูล่า เลยผลักการตัดสินใจไปที่ “ให้ทุกคนช่วยกันโหวท”ก็แล้วกัน (ดูบทความต่อไป เรื่อง “โต๊ะกลม”ไม่เวิร์ค)
และผมคิดว่า ความผิดพลาดในเรื่องการเป็นผู้นำของผม อาจเป็นความผิดที่เกิดบ่อยสำหรับหลายคนที่เพิ่งเคยเริ่มมีตำแหน่งเป็นผู้นำ
ไม่ว่าจะนำคน 2 คน หรือ 200 คน
นั่นคือ...
ผมแคร์เกินไป ว่าลูกน้องจะชอบผมหรือเปล่า
ผมเรียนรู้ทีหลังว่า การที่ลูกน้องจะชอบหรือไม่ชอบเรานั้น ไม่ควรเป็นสิ่งแรกๆในความคิดของผู้นำ
นั่นเป็น focus ที่ผิด
เพราะคุณกำลังคิดถึง “ตัวเอง” (ฉันจะ popular ไหมนะ)
แทนที่จะคิดถึง 1. งานส่วนรวมต้องดี 2. ทำสิ่งที่ถูกต้อง

คุณมาเพื่อนำทีมนี้ ให้ทำงานสำเร็จลุล่วงอย่างดีที่สุด ไม่ใช่มาห่วงว่า ลูกน้องต้องชอบเราทั้งหมด
ในประสบการณ์ผมเอง และจากการสังเกตคอนดักเตอร์คนอื่น....
เมื่อนักดนตรีเห็นอย่างชัดเจนว่า คอนดักเตอร์ (ผู้นำ) พยายามจนออกหน้าออกตาเกินไปว่า อยากจะให้ลูกน้องชอบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า has no backbone (ไม่มีกระดูกสันหลัง)
ภาพจะออกมาในลักษณะเป็นผู้นำที่ “อ่อนแอ”
นักดนตรีจะ ดูถูก และ สูญเสียความเคารพ

ทัศนคตินี้ ดีกว่า....
ในประสบการณ์ผม
เมื่อไรที่เราเลิกห่วงว่าลูกทีมจะชอบหรือไม่ชอบตัวเรา แต่ทำงานของคุณให้ดี โดยคำนึงถึง “ความถูกต้อง”และ ความมีประสิทธิภาพของส่วนรวม
และคุณเป็นตัวของตัวเอง ทำดีกับทุกคน ห่วงใยลูกทีม
ผลลัพธ์จะดีกว่า
ในระยะยาว ลูกทีมคุณจะ “เคารพ”คุณในฐานะคน“มีของ”
ไม่ใช่คนที่ยอมเสียจุดยืน เพื่อให้คนอื่นชอบ
อาจารย์คอนดักเตอร์คนหนึ่งเคยสอนผมว่า...
มันไม่สำคัญที่เขาจะชอบคุณหรือเปล่า แต่มันสำคัญว่า เขาจะ “เคารพ”คุณหรือเปล่า
ถ้าลูกน้องไม่เคารพคุณ คุณทำงานไม่ได้ (แม้ว่าเขาจะชอบคุณ)
ถ้าเขาไม่ชอบคุณ แต่เคารพ คุณยังทำงานได้
(ดีที่สุดคือ ทั้งเคารพทั้งชอบ)

คอนดักเตอร์สมัยก่อน (ช่วง 50-60 ปีก่อน) เป็น “เผด็จการ”กับนักดนตรีมาก
ถึงขนาดตบหน้า ตัดเงินเดือน ไล่ออก กันกลางวงเลยทีเดียว ในขณะซ้อม (ไม่ได้ล้อเล่นนะ พูดจริง คอนดักเตอร์ชื่อ Toscanini มีชื่อเสียงเรื่องนี้มาก)
ตะโกนด่านักดนตรีเหมือนเขาไม่ใช่คน
มีอำนาจมหาศาล นักดนตรีทั้งวงทั้งเกลียดทั้งกลัว
แต่วงมีวินัยและผลงาน เยี่ยมยอด
จนมีคำกล่าวว่า...
“ถ้ามีออร์เคสตร้าวงไหนชอบคอนดักเตอร์ แสดงว่าวงนั้นเป็นวงที่ไม่ได้เรื่อง”

สมัยนี้ ไม่ได้แล้ว
นักดนตรีในอเมริกามีสหภาพแรงงาน คอนดักเตอร์อำนาจหด จะไล่คนออกสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้
ผมเห็นเพื่อนคอนดักเตอร์หลายคนของผมในอเมริกา อนาคตดับหลายคน เพราะไล่นักดนตรีออกแบบไม่มีระบบ
โดนสหภาพฯ เล่นงาน ต่อไปหางานยากมาก

บทเรียน:
1. เราทุกคนอยากเป็นที่รักที่ชอบด้วยกันทั้งนั้น การอยากเป็นที่รักที่ชอบ ไม่ใช่เรื่องแปลก
2. การตัดสินใจทุกอย่างของผู้นำ มีคนได้ประโยชน์ มีคนเสียประโยชน์ ในฐานะผู้นำ คุณต้องตัดสินใจบางเรื่อง ที่ไม่ได้ทำให้ทุกคน happy
3. การที่มีคนชอบคุณในฐานะผู้นำ นั่นเป็น “โบนัส” แต่ไม่ใช่เป็นจุดมุ่งหมายหลัก
4. จุดมุ่งหมายหลัก คือ ทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับทีมคุณ หรือส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์คนที่ใกล้ชิดคุณมากที่สุด คนที่คุณชอบที่สุด หรือคนที่ “บ่น”มากที่สุด ฯลฯ
5. การที่ผู้ตามจะชอบผู้นำ จะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า ถ้าผู้นำทำงานของเขาอย่างมีประสิทธิภาพ ตัดสินใจเพื่อส่วนรวม
6. หลักการนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำ “ไม่แคร์”จิตใจผู้ตามเลย ในทางตรงกันข้าม คุณควรจะแคร์ถึงลูกทีมคุณมากๆ เพียงแต่คุณไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องให้ลูกทีมชอบ
7. ไม่ต้องห่วงว่า จะมีคนไม่ชอบคุณ เป็นเรื่องปกติ ยิ่งคุณประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคนที่ไม่ชอบคุณก็จะมีมากขึ้น (หวังว่า อย่าเยอะนัก)

ยกตัวอย่าง...
ถ้าในทีมคุณ มีคนที่ชัดเจนมากว่าเป็น “ตัวถ่วง” ของทีม
มีทัศนคติทางลบมาก ชอบบ่น ชอบด่า ชอบนินทาเพื่อนร่วมงาน ไม่ยอมทำงาน
หรือ ผลงานต่ำกว่ามาตรฐานมาก หรือทำงานล่าช้า
ทำให้ทีมทั้งทีม ทำงานไม่ได้ หรือก้าวหน้าได้ช้า ผลเสียตกอยู่กับคนอื่นในทีมด้วย
คุณได้เรียกเขามาตักเตือนหลายทีแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น
คุณอาจจะต้องที่สิ่งที่ไม่ “ป๊อปปูล่า”มากนัก
คือ การหาคนที่ดีกว่า เข้ากับทีมได้มากกว่า มาแทน
แน่นอน คนที่สูญเสียผลประโยชน์ ก็จะไม่ชอบคุณ (นอกเสียจากว่า คุณจะรับมือสถานการณ์นี้อย่างดีมากๆ เช่น ช่วยเขาหางานใหม่ที่เหมาะสมให้)
แต่คนอื่นในทีม จะทำงานได้สบายใจมากขึ้น


ป.ล.
หลังเขียนบทความนี้ ผมสงสัยว่า คนอื่นมีประสบการณ์อย่างนี้หรือเปล่า
ผมจึงลองไป google คำว่า leadership และ popularity contest ดู
ปรากฎว่า มีบทความที่กล่าวถึงเรื่องนี้ 300,000 กว่ารายการ
นักคิดเรื่อง ภาวะผู้นำ มีความเห็นในแนวเดียวกับที่ผมคิด
น่าสนใจมาก ถ้ามีเวลาลองอ่านกันดูครับ

Monday, November 15

ผู้นำที่ได้แต่สั่ง

ต่อไปนี้เป็นบทเรียนผู้นำอีกข้อหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเป็นวาทยกรทำงานกำกับลูกวงฝรั่ง วันแล้ววันเล่า ต่างวงต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์

วาทยกรที่ยังอ่อนหัด ปกติเวลาต้องไปยืนอยู่หน้าวงออร์เคสตร้าเป็นครั้งแรก ก็จะมีความกลัวอยู่บ้าง

โดยเฉพาะบางครั้ง ลูกวงแก่และ “เก๋า” กว่าเขาหมด คนในวงอายุรุ่นคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งคุณปู่คุณย่า

เขาเพิ่งหัดคอนด้กท์บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟ่นเป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่ลูกวงอาจจะเล่นกันมาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง

ลูกวงอาจมีชั่วโมงบินมาแล้วเป็นพัน ๆ คอนเสิร์ต แต่ตัวเขาอาจเล่นคอนเสิร์ตไม่เกินสิบครั้ง

แต่ต้องไปยืน “สั่ง” คนแก่กว่าเกือบร้อยคน ในเรื่องที่ตนเองมีประสบการณ์น้อยกว่าเขามาก

และสิ่งหนึ่งที่ “ผู้นำอ่อนหัด” (รวมทั้งตัวผมเองตอนเริ่มฝึกเป็นวาทยกรเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว) ชอบทำพลาดกัน ก็คือ

การ “ได้แต่สั่ง” แต่ไม่ได้สนใจไป make sure ว่า ลูกน้องทำให้ได้ผลอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า

และผลแย่ที่ตามมาก็คือ

ลูกน้องก็เรียนรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องทำตามที่เราบอกก็ได้

ผู้นำก็สูญเสีย authority ลูกน้องไม่เคารพทันที

ยกตัวอย่าง

ถ้าในระหว่างการซ้อมวง คอนดักเตอร์หยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง แล้วบอกคนเล่นฟลุ้ตตัวที่หนึ่งว่า

“ผมอยากให้วลีที่ห้อง 32 โดยให้ช้าลงนิดหน่อยตรงท้ายห้อง” พร้อมทั้งร้องวลีนั้นเป็นการสาธิตให้เสร็จสรรพ

แต่เนื่องจากนักฟลุ้ตคนนั้น อาจเป็นคนแก่ ที่เล่นแบบเดิม ๆ มาเป็นร้อย ๆ ครั้ง กับคอนดักเตอร์อาวุโสมาก ๆ ดังมาก ๆ มาแล้วหลายคน

เข้าทำนอง “ไม้แก่ดัดยาก”

จึงไม่สนใจที่จะฟังเจ้าคอนดักเตอร์หนุ่มคนนี้

เขาคิดว่า “ทำไมเราต้องมาฟังคอนดักเตอร์หน้าใหม่อ่อนประสบกาณ์คนนี้ด้วย (วะ)

เขาเป็นแค่วาทยกรรับเชิญ สัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนคนแล้ว

และวาทยกรคนนี้ก็ไม่ได้จ่ายเงินเดือนเรา ไล่เราออกก็ไม่ได้”



พอคอนดักเตอร์หนุ่มอ่อนหัดบอก “โอเค เราเริ่มกันใหม่อีกที แก้ตามที่ผมบอกนะครับ”

นักฟลุ้ตคนนี้ ก็เป่าอย่างเดิมอย่างหน้าตาเฉย

ตอนนี้แหละเป็นตอนสำคัญที่ผู้นำคนใหม่คนนี้ต้องพิสูจน์ตัวเอง

เขามีทางเลือกสองทาง

หนึ่ง หยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง แล้วตอกย้ำในสิ่งที่เขาต้องการกับบุคคลที่ต้องแก้ไข

แต่ก็เสี่ยง เพราะถ้าไม่มีจิตวิทยาในการพูด ก็จะเสิ่ยงต่อการมีศัตรูเพิ่มหนึ่งคน หรืออาจเป็นทั้งวง

ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำงานก็จะลำบากมาก สัปดาห์นั้นทั้งสัปดาห์อาจจะกลายเป็น “ฝันร้าย”

หรือ

สอง ปล่อยเลยตามเลย จะได้ไม่เสี่ยงต่อการ “เผชิญหน้า”

แต่ก็เสี่ยงอีก เพราะลูกวงก็จะเรียนรู้ว่า “อ้อ ผู้นำคนนี้ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังก็ได้ เขาไม่มาตามเราหรอก เป็นผู้นำที่อ่อนแอ”

แบบที่สองนี้ อาจไม่เห็นผลร้ายในระยะสั้น

แต่นาน ๆ เข้า ลูกน้องหรือลูกวงก็จะหมดศรัทธาในตัวผู้นำ ทั้งวงออร์เคสตร้าก็จะเริ่มเล่นแบบไม่สนใจผลงาน เละ ๆ เทะ ๆ



ผมเอง กว่าจะเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ต้องซื้อมาด้วยประสบการณ์ราคาแพงหลายครั้ง

บางครั้ง ผมหยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นห้าหกครั้ง เพื่อให้คน ๆ เดียวเล่นให้ถูกต้อง

ซึ่งถ้าเจอคนดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเจอคนที่อาจจะ “หมั่นไส้” เราอยู่แล้ว ก็อาจมีเรื่องกันได้



ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ยุทธวิธีที่ดีที่สุดกับแก้ปัญหาแบบนี้ก็คือ

Be firm, but polite. มั่นคง แต่สุภาพ !

Friday, November 12

เมื่อผมได้มีโอกาสช่วยพี่น้องหาดใหญ่บ้านเกิด

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้มีประสบการณ์ดีๆ ได้รับใช้คนอื่นบ้าง รู้สึกเศร้าใจที่มีคนไทยได้รับความเดือดร้อนมากมาย พอดีได้ข่าวว่าคุณอาซึ่งก็เป็นคนหาดใหญ่เหมือนผม กำลังจะลงไปหาดใหญ่เพื่อเอาของที่ขาดแคลนไปให้ จึงอาสาลงไปช่วยด้วย เล่าเรื่องด้วยรูปดีกว่า


เพิ่งมาถึงแถวๆที่จะเอาของมาให้ ยืนกับพี่ๆจากสโมสรไลอ้อนที่มาทำงานด้วยกัน รวมทั้งทหารและอาสาสมัครที่รู้ท้องถิ่นที่มาช่วย

เริ่มปั๊ป ฝนก็เริ่มตกทันที ข้างหลังถุงแดงๆ ไม่ใช่ขยะนะ ในถุงเป็นของกินของใช้
ขอบคุณพี่น้องทหารที่มาช่วยครับ


ผมกับแม่


ชาวบ้านที่มารับของ

เป็นการออกกำลังกายที่ดีเหมือนกัน

คุณแม่ผม 60 กว่าแล้ว ยังแข็งแรง


กับทีมสโมสรไลอ้อน บนรถบรรทุกของทหาร คนที่นั่งคือ คุณอา (น้องพ่อ)

หาดใหญ่ ขยะเต็มเมือง

ประสบการณ์นี้ ทำให้ผมได้รู้จักใกล้ชิดกับคนบ้านเกิดมากขึ้น ช้อคพอสมควรที่ได้เห็นความสูงของระดับน้ำ และความรุนแรงถึงตายของน้ำท่วม อยากให้ทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติเร็วๆ ท่านผู้อ่านว่างๆ อย่าลืมไปเที่ยวหาดใหญ่นะครับ ช่วยไปอุดหนุนคนทางนั้นบ้าง

Thursday, November 4

ดนตรีเสริมสร้างจินตนาการ Inspire!

ดนตรีกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งช่วยสร้างจินตนาการขณะฟังดนตรีสมองจะประมวลข้อมูลโดยใช้สมองทั้งสองซีก โดยประสานสมองซีกซ้าย ซึ่งใช้คิดวิเคราะห์ และสมองซีกขวา ซึ่งเกี่ยวกับการจินตนาการ เพื่อให้ช่วยคุณแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น รวมทั้งสร้างจินตนาการเพื่อกำจัดอุปสรรคด้านความคิดสร้างสรรค์ และขยายขอบเขตของการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น

Music is processed by both sides of your brain. This means that music helps you coordinate right-brain creativity and intuition with left-brain logic and analysis. This kind of cooperation between the two hemispheres in your brain allows you to become a better problem solver, a more creative thinker and a more perceptual and imaginative person.

ดนตรีแนะนำ Beethoven: Symphony No. 9, Ode To Joy
ฟังได้ในแพนซีดี INSPIRE