Wednesday, September 30

พบกับผลงานใหม่ล่าสุดหนังสือ "ดนตรีดีๆไม่มีกระได" และ ซีดี "The Magic Of Mozart"





วันศุกร์-เสาร์ที่ 23-24 ต.ค. บัณฑิต พร้อมแจกลายเซ็นให้แฟนคลับที่บูธซี เอ็ด ตั้งแต่เวลา 12.30-14.00น./ศุกร์เสาร์ 23-24 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 15.00-16.00 น.ที่บูธบันลือสาส์น ณ งานมหกรรมงานหนังสือครั้งที่ 14 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์

Tuesday, September 1

เพลงคลาสสิคแก้ความยากจน ตอนที่ ๒ กท ธุรกิจ 17 มค 51



เพลงคลาสสิคแก้ความยากจน ตอนที่ ๒ กท ธุรกิจ 17 มค 51 ปรับปรุงแก้ไขแล้ว
ดนตรี “เปลี่ยน”ชีวิต
(บทความตอนที่ ๑ เกี่ยวกับ El Sistema หรือ The System ของประเทศเวเนซูเอล่า)
ขอน้อมระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระพี่นาง
(สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)

ในสายตาของคนส่วนใหญ่ ดนตรีคลาสสิกคือ “กิจกรรมยามว่างของคนมีสตางค์” ต้อง “ปีนบันได”ขึ้นไปฟัง และต้องมีฐานะพอสมควรที่จะเรียนได้
ผมเองก็เคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าตนเองคิดผิดอย่างถนัด !
และผมเชื่อมั่นว่า คนยากจนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนของประเทศเวเนซูเอล่า ที่ได้ผ่านโครงการ El Sistema ของประเทศนั้น จะยืนยันว่าคนทั่วโลกคิดผิด
เด็กยากจนเหล่านี้เล่นดนตรีคลาสสิกเก่งมาก ๆ พออายุ ๑๕ – ๑๖ ปี บางคนเล่นได้เทียบเท่าหรือเก่งกว่ามืออาชีพแล้ว เล่นเพลงยาก ๆ ได้เหมือนผู้ใหญ่อายุแก่กว่า ๒ หรือ ๓ เท่า
คำว่า โมสาร์ท เบโธเฟ่น ไชคอฟสกี้ เป็นที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน
การเล่นดนตรีเป็นกลุ่ม เป็นกิจวัตรประจำวัน
ที่น่าสนใจคือ เด็กเหล่านี้ มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดของประเทศเวเนซูเอล่า !

นายเลนนา อคอสต้า อายุ ๒๓ ปี เป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโครงการ El Sistema นี้
ก่อนที่เขาจะได้โอกาสเข้ามาอยู่ในโครงการนี้เมื่อหกปีก่อน เขาได้เข้าสถานพินิจ (correctional facility) มาแล้วเก้าครั้ง เพราะการใช้ยาเสพติดอย่างหนักและการปล้นชิงทรัพย์
ขณะที่สถานพินิจนั้นได้ปฏิเสธคำขอร้องของเขาที่จะกลับไปเข้าโรงเรียน วงออร์เคสตร้าเยาวชนของโครงการ El Sistema ก็ได้ให้เครื่องดนตรีคลาริเนตแก่เขา และเรียกเขาให้มาเล่นในวง
ขณะนี้ หกปีให้หลัง เขาเลี้ยงชีพได้โดยการสอนที่โรงเรียนดนตรี และกำลังเตรียมที่จะเล่น คลาริเนตคอนแชร์โต (เดี่ยวคลาริเนตร่วมกับวงออร์เคสตร้า) ของโมสาร์ต
เขากล่าวว่า “ชีวิตผมเปลี่ยนไป เมื่อตอนที่ El Sistema ให้คลาริเนตกับผม พวกเขาได้ช่วยให้ผมกลับตัว El Sistema เป็นเสมือนครอบครัว และบ้าน”

“ในประเทศเวเนซูเอล่า เราเปลี่ยนความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่า คุณต้องมาจากคนชั้นสูง ถึงจะเรียนไวโอลินได้” คาร์ลอส ซีดาน ผู้อำนวยการของโรงเรียนดนตรีแห่งหนึ่งของ El Sistema ได้เล่า
“เด็ก ๆ นักดนตรีเหล่านี้ ไม่ได้รับอนุญาติให้นำเครื่องดนตรีกลับบ้าน เพราะความเสี่ยงที่เครื่องดนตรีจะถูกแย่งขโมย เด็ก ๆ บางคนมาเรียนปวดหัว เพราะครอบครัวของเขาไม่มีเงินซื้ออาหารมารดาของเด็กสีห้าคนจากโรงเรียนนั้น ได้ถูกยิง เด็กหลายคนก็เป็นเด็กกำพร้า มีการต่อสู้ระหว่างแก๊งค์ตลอดเวลา ตำรวจก็แย่มาก ๆ บางทีแย่กว่าพวกแก๊งค์อันธพาลนั้นอีก ครั้งที่แล้วก็ได้ยิงเด็กสองสามคน”
แต่เด็กเหล่านั้น เมื่อเขาได้มีโอกาสแสดงดนตรี เขาก็เป็นความภูมิใจของชุมชน และเป็นแรงดลใจให้ผู้ปกครองเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเกี่ยวกับคีตกวี (นักแต่งเพลงคลาสสิค) ที่สำคัญของโลก
เด็กชายลูซ วัยเก้าขวบเล่าว่า “ผมอยู่ที่นี่ (เล่นกับวงออร์เคสตร้า) ยังดีกว่าอยู่บ้าน ที่บ้านผมก็ไม่ได้ทำอะไร นั่ง ๆ นอน ๆ เป้าหมายไม่ใช่ดนตรีครับ แต่เป็นวินัย ความเคารพซึ่งกันและกัน ความสำเร็จโดยการทำงานแบบเป็นทีม และไม่เคยละทิ้งความเป็นเลิศ”
ความสำเร็จของ El Sistema เป็นสิ่งที่น่าคิด น่าเลียนแบบในสังคมไทยมาก ทั้งยังเป็นการกระทำที่จะตอบสนองเจตนารมณ์ของสมเด็จพระพี่นางฯ ที่จะส่งเสริมทั้งดนตรีคลาสสิก และเด็กด้อยโอกาสต่าง ๆ เป็นการพัฒนาทั้งสองสิ่งขึ้นมาพร้อม ๆ กัน
ถ้าท่านต้องการชมภาพนิ่งหรือหนังเกี่ยวกับ El Sistema หรือต้องการอ่านเพิ่มเติม ลองใช้ google หาโดยใช้คำว่า “El Sistema Venezuela” (ถ้าต้องการดูการแสดง เลือก link ที่เป็น youtube) หรือไปที่เว็บไซท์ของ CNN ที่ www.spiritof.info/music ซึ่งเป็นสารคดีที่น่าสนใจมาก

บัณฑิต อึ้งรังษี เป็นวาทยกรระดับนานาชาติ สำหรับผลงานเขียนเพิ่มเติม ติดตามได้ที่หนังสือใหม่ “๓๐ วิธี เอาชนะโชคชะตา” สำหรับงานสอนวาทยกรที่จะมีครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ ๔ -๗ กุมภาพันธ์นี้ ติดตามได้ที่ www.okmd.or.th