Friday, July 3
ดนตรีที่ช่วยเด็ก ๔๐๐,๐๐๐ คนพ้นจากความยากจนและอาชญากรรม
บทความนี้มาจากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2551
(บทความมตอนที่ ๑ เกี่ยวกับ El Sistema หรือ The System ของประเทศเวเนซูเอล่า)
ขอน้อมระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระพี่นาง
(สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)
คน ไทยเราส่วนใหญ่ก็พอจะทราบกันว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ท่านทรงโปรดดนตรีคลาสสิกมากด้วยพระทัยจริง ทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนวงการนี้ ถึงขนาดพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเสริมสร้างบุคลากรไทยในด้านนี้ให้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว
ผม เองมีโอกาสได้สนทนาปฏิสันถารกับท่านเป็นการส่วนตัว ๕ ครั้งด้วยกัน (๓ ใน ๕ ครั้งนั้นเป็นระหว่างพักครึ่งหรือหลังคอนเสิร์ตผมที่ท่านได้ให้เกียรติมาฟัง ) แต่ละครั้งก็ได้คุยกันเรื่องเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกกับอนาคตเยาวชนไทยของเรา
ผม คิดว่ากว่า ๙๙ % ของคนไทยทั้งประเทศยังเห็นว่าเรื่องดนตรีคลาสสิกเป็นเรื่องไกลตัวของเขาเอง มาก เป็นวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่า ทั้งอาจไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เป็นพิเศษ
เราพอจะเห็นว่า การที่พระองค์ท่านสนับสนุนเรื่องการแพทย์นั้น ช่วยสังคมได้อย่างไร แต่การที่ท่านสนับสนุนเรื่องดนตรีคลาสสิกนั้น ดูเหมือนน่าจะเป็นเพื่อการสุนทรียภาพส่วนบุคคลของแต่ละคนมากกว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับการช่วยสังคมส่วนรวม
เพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ ผมขอเล่าเรื่องความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเวเนซูเอล่า ที่เขย่าวงการดนตรีคลาสสิกโลก รวมทั้งได้รับความสนใจอย่างมากมายจากสำนักข่าวยักษ์ใหญ่แทบทุกสำนักของโลก เช่น CNN, Associated Press, New York Times, Los Angeles Times, BBC, NHK และรวมทั้งสื่อนานาชาติอื่น ๆ กว่าร้อยสื่อ ทั้งยังไม่นับบทความจำนวนนับไม่ถ้วนทางอินเตอร์เนท (ลอง google คำว่า “El Sistema Venezuela” สิครับ (ภาษาสเปน El Sistema = The System) มีถึง 744,000 hits)
ความสำเร็จอันนี้ ทำให้ภาพพจน์ของประเทศเวเนซูเอล่าในสายตาโลก ดีขึ้นอย่างมากมาย แม้จะมีการเมืองที่ผันผวน และมีผู้นำประเทศที่เป็นข่าวในด้านที่ไม่ค่อยจะดีเสมอ
เรื่องความสำเร็จ ที่ว่านี้เป็นข่าวที่ดังไปทั่วโลก (ไม่ใช่เฉพาะในวงการเพลงคลาสสิก) ในเวลาไม่ถึงปีที่ผ่านมิ และเป็นข่าวต่อเนื่อง ไม่ใช่ฉาบฉวย แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนทราบเรื่องนี้
เป็นเรื่องของการที่รัฐบาลของ ประเทศที่มีคนยากจนมากมายอย่างประเทศเวเนซูเอล่า (คนยากจน ๓๓% ของพลเมือง ๒๖ ล้านคน) ได้แก้ปัญหาสังคมที่ตามมาจากความยากจน ด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใคร แต่สำเร็จมากเกินความคาดหมาย แบบคุ้มเหลือคุ้ม
คือ การให้เครื่องดนตรีแก่เด็กด้อยโอกาสและยากจนเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนดนตรีฟรี !
เด็กเหล่านี้ ๙๐% มาจากสลัมที่ยากจนที่สุดของประเทศเวเนซูเอล่า มีอาชญากรรม ฆาตกรรมและยาเสพติดเกิดขึ้นตลอดเวลา
พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ (ซึ่งแน่นอน ก็ยากจนเหมือนกัน) กลับกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเบโธเฟ่น โมสาร์ท ไชคอฟสกี้ ไปโดยปริยาย
ใครว่าเพลงคลาสสิกต้อง “ปีนบันได” ฟัง !
เด็ก และพ่อแม่ที่ยากจนเหล่านี้ ดึงเอาเพลงคลาสสิก “ปีนบันไดลงมา” เพื่อช่วยเขาให้มีชีวิตใหม่ มีความหวังในอนาคต และสร้างการศึกษาและทักษะ เพื่อที่จะให้ตนเองพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ
ในขณะนี้ ภายหลังจากที่ก่อตั้งโครงการนี้ ๓๐ ปี มีเด็กที่ได้เรียนดนตรีแล้วกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน (จากพลเมือง ๒๖ ล้านคน นับเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงมาก ๆ) นั่นหมายความว่า โครงการนี้ช่วยเด็กกว่าที่ ๔๐๐,๐๐๐ คนที่มีโอกาสติดยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ค้าประเวณี หรือเข้าเรือนจำ ให้มาใช้เวลาทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีมเวิร์ค คือ การเล่นดนตรีในวงออร์เคสตร้า (แต่ละวงประมาณ ๑๐ ถึง ๒๐๐ คน)
สำหรับเด็กบางคน เหมือนกับ “ดึงเอาปืนออกจากมือเด็กเหล่านี้ แล้วเอาเครื่องดนตรีใส่มือเขาแทน”
คน ส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า การเล่นดนตรีในวงออร์เคสตร้า ๙๐% ของงานคือการซ้อม ไม่ใช่การแสดง ทั้งซ้อมส่วนตัวและซ้อมกับวง ซึ่งต้องใช้ระเบียบ การบังคับตนเอง และการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี
นอกจากนี้ สิ่งที่เด็กเหล่านี้ได้จากการเล่นดนตรีในวงออร์เคสตร้านั้น คือ การเรียนรู้นิสัยและค่านิยมที่ดีต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เขาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในภายภาคหน้า เช่น ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม ความเคารพซึ่งกันและกัน ความร่วมมือกัน การรู้จักการทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งจรรยาบรรณ (work ethics) และวินัยในการทำงาน
นี่ยังไม่นับถึงประโยชน์ทางปัญญาที่แต่ละคนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาธิ ความจำ และการพัฒนามันสมอง (คิดว่าคนส่วนใหญ่คงรู้ทั่วไปแล้วว่า ดนตรีคลาสสิกได้รับการพิสูจน์อย่างไม่มีข้อสงสัย หลายครั้งแล้วว่า ช่วยพัฒนาไอคิวของเด็ก เด็กได้เรียนดนตรีในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี มีการพัฒนาสมองที่แตกต่างกับเด็กที่ไม่ได้เรียน สำหรับรายละเอียดผลงานการวิจัยชิ้นหนึ่ง กรุณาดูได้ที่ http://www.sciencedaily.com/releases/2006/09/060920093024.htm )
สรุป ภาพรวมก็คือ เงินที่นำมาใช้ในโครงการนี้แทนที่จะนำไปซื้ออาหารให้คนยากจนไปเฉย ๆ แต่กลับสอนเขาถึงอุปนิสัยแห่งการทำงาน สร้างสิ่งแวดล้อมในสังคมที่น่าอยู่ และพัฒนาตัวบุคคล ที่จะช่วยให้เขาช่วยตนเองได้ในอนาคต
เข้าตามสุภาษิตที่ว่า “Give a man a fish, you feed him for a day. Teach a man to fish, you feed him for a lifetime.”
(“ให้ปลาแก่คน คุณเลี้ยงเขาหนึ่งวัน สอนให้เขาตกปลา คุณเลี้ยงเขาทั้งชีวิต”)
ผลก็คือ สภาพสังคมของประเทศเวเนซูเอลาที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์
เด็ก จำนวนมากที่ผ่านโครงการนี้ แม้ต่อมาไม่ได้เป็นนักดนตรีอาชีพ หรือทำงานเกี่ยวกับดนตรี ก็ได้นิสัยในการทำงานที่ดีติดตัวไป เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ หลุดพ้นจากความยากจนที่มาจากกำเนิด
โครงการ นี้ประสบความสำเร็จจนปัจจุบันนี้มีประเทศถึง ๒๓ ประเทศที่นำเอาโครงการนี้ไปใช้ ทั้งในประเทศที่ก้าวหน้า เช่น สกอตแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และประเทศที่ยากจนเช่น เม็กซิโก
แต่ประเทศไทยของเรายังแทบไม่มีใครทราบเรื่องนี้เลย!
(ผม ขอตั้งข้อสังเกตว่า วัฒนธรรมเพลงคลาสสิกไม่ใช่วัฒนธรรมประจำชาติของเวเนซูเอล่า เพราะคีตกวี (นักแต่งเพลงคลาสสิก) ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป แต่วัฒนธรรมเพลงคลาสสิก ในสายตาของนานาชาติ ถือว่าเป็น “มรดกของมนุษยชาติ”ทั้งมวล ไม่จำกัดเชื้อชาติ เป็นภาษาสากล เป็นดนตรีที่คนทั่วโลกฟังได้โดยไม่ต้องห่วงว่าเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ฯลฯ)
ลองนึกภาพว่าถ้าประเทศไทยทำได้แค่ หนึ่งในสิบของประเทศเวเนซูเอล่า เราจะมีคนยากจนน้อยลง ๔๐,๐๐๐ คน และมีสมาชิกที่รับผิดชอบของสังคมเพิ่มขึ้นในจำนวนเท่ากัน
ผมคิดว่า พระองค์ท่านพระพี่นาง ฯ คงจะยินดีเป็นอย่างมากแน่ ถ้าในอนาคตเราสามารถสร้างระบบที่ สิ่งที่ท่านรักสิ่งหนึ่ง (ดนตรีคลาสสิก) เป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่สิ่งที่ท่านรักอีกสิ่งหนึ่ง (สังคมไทย) และทั้งสองอย่างก็พัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน
เป็นการที่ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับท่านไม่เคยเสื่อมหายไปเลย !
บัณฑิต อึ้งรังษี เป็นวาทยกร (คอนดักเตอร์) ระดับนานาชาติ และได้รับตำแหน่งเป็นทูตวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจากกระทรวงวัฒนธรรม สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และการติดต่อ โปรดไปที่ www.BunditMusic.com
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment