Sunday, March 6

ดังหรือไม่ดัง

ผมกับประสบการณ์ใหม่ที่งาน Seed Award

ในฐานะนักดนตรีคลาสสิก น้อยครั้งที่จะมีใครคิดถึงเราว่า "cool" หรือ “เท่ห์”

จริงๆแล้ว คนบางกลุ่มเขา“ไม่คิดถึง”เราเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเท่ห์หรือไม่เท่ห์ พูดง่ายๆ ไม่ให้ความสนใจเลย (ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่)

เป็นเพราะดนตรีฟังกันในวงแคบ นักดนตรีคลาสสิกซ้อมเยอะแต่คนดูน้อย ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเท่าไรนัก ยกเว้นจะดังสุดขีดในเวทีโลกจนกลายเป็น Pop Idol อย่าง โยโยมา หรือ Lang Lang (คุณกำลังคิด “ใครอ่ะ”...เห็นมั๊ย ขนาดสุดยอดขนาดนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเลย)

“คนบางกลุ่ม” ที่ไม่คิดถึงนักดนตรีคลาสสิกแน่ๆ ก็คือ กลุ่มวัยรุ่นที่กรี๊ดกร๊าดดาราดังๆ หรือนักร้องเกาหลี

คำว่า cool หรือ เท่ห์ ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ใช้กับดาราหล่อๆสวยๆ ดังๆ หรือ Rock stars

ผมรู้สึกว่า ตน “cool” ขึ้นมาอีกนิด ก็ตอนถูกเชิญไปประกาศรางวัลให้กับ SEED AWARD ครั้งที่ 6 ไม่กี่วันที่ผ่านมา (3 มีนาคม 2554)

ผู้จัดให้เกียรติผมประกาศรางวัลสองรางวัลสุดท้าย

ผู้ประกาศรางวัลท่านอื่นที่ขึ้นประกาศก่อนหน้าผม พูดชื่อก็ต้องร้อง อ๋อ ในสังคมไทย เช่น คุณมาช่า คุณทาทายัง

ที่ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวคือคุณโดม ปกรณ์ ลัม

ประทับใจในตัวเขามากกับความสุภาพและให้เกียรติ เจอหน้าก็เดินเข้ามาทักทายสวัสดีผมเลย

(บอกตรงๆว่าผมเชยขนาดก่อนหน้านั้นยังไม่รู้จักเขาเลย ขนาดเขาตามผมใน twitter อยู่ด้วย )

แถมยังบอกอีกว่า เป็นแฟนหนังสือผม เล่มที่เขาอ่านคือ “กฎแห่งความโชคดี”



ผมยืนอยู่หลังเวที พอดีประกาศเป็นคนสุดท้าย ก็ได้สังเกตกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นคนดู (คงอายุไม่เกิน 22 เป็นส่วนใหญ่) กรี๊ดเสียงดัง

พอพูดชื่อ ทาทายัง ...กรี๊ดดดดด

มาช่า...กรี๊ดดดดด

โดม ปกรณ์ ลัม ...กรี๊ดดดดด

พอถึงคิวผม ผู้ประกาศก็เกริ่นนำซะดี “ต่อไปนี้ท่านจะได้พบกับ วาทยกรไทยคนแรกที่...... บัณฑิต อึ้งรังษี”

ผมได้ยินเสียงความคิดของคนดู ดังจนน่าใจหาย...“ใครอ่ะ”

ตามมาด้วยเสียงปรบมืออย่างสุภาพ

(คิดเข้าข้างตนเองว่า จากบนเวทีคงได้ยินเสียงคนกรี๊ดไม่ค่อยชัด)

พอขึ้นเวที ผมเกริ่นนำว่า

“วันนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ของผม เพราะปกติเวลาขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ต ทั้งผู้ฟังและนักดนตรีลูกวงผม 60-70 คนบนเวที ส่วนใหญ่แล้วอายุเกิน 50 ปี (ในอเมริกาและยุโรป) ไม่ค่อยได้สัมผัสกับคนฟังหนุ่มๆสาวๆ”

เป็นความฝันของนักดนตรีคลาสสิกทุกคน ที่จะเข้าถึงหัวใจของคนรุ่นใหม่ได้

มันเกิดขึ้นในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่เมืองไทยยังน้อย

สำหรับผม ดนตรีแนวที่ผมเล่น เข้าถึงใจคนไทยไม่ได้ แต่หนังสือที่ผมเขียนทำได้ก็ยังดี

มันเป็น “โชคดี”ของผมอย่างหนึ่งที่ 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสถ่ายทอดความคิดในรูปของหนังสือให้กับคนไทยรุ่นใหม่

เท่าที่ทราบ ไม่มีนักดนตรีคลาสสิกคนไหนในโลกที่เผยแพร่หนังสือได้เกือบ 500,000 เล่ม

ปกติซีดีของนักดนตรีคลาสสิกแม้ดังๆแบบอินเตอร์ ขายได้ 3000 แผ่นทั่วโลกก็ดีใจแล้ว

ไม่ต้องคิดเรื่องเขียนหนังสือเลย เจ๊งแน่ เพราะคนทั่วไปไม่รู้จัก มีแค่คนในวงการเท่านั้นที่เคยได้ยินชื่อ

การได้เข้าถึงหัวใจคนชาติเดียวกันนั้น เป็นอะไรที่ผมใฝ่ฝันในตลอดช่วงเวลายี่สิบปีที่ทำมาหากินเมืองนอก

นึกไม่ถึงว่า มันจะไม่ได้เป็นในรูปแบบของดนตรีที่เราฝึกฝนมาครึ่งชีวิต แต่กลับเป็นไปในรูปของหนังสือ !

No comments: