ต่อไปนี้เป็นบทเรียนผู้นำอีกข้อหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเป็นวาทยกรทำงานกำกับลูกวงฝรั่ง วันแล้ววันเล่า ต่างวงต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์
วาทยกรที่ยังอ่อนหัด ปกติเวลาต้องไปยืนอยู่หน้าวงออร์เคสตร้าเป็นครั้งแรก ก็จะมีความกลัวอยู่บ้าง
โดยเฉพาะบางครั้ง ลูกวงแก่และ “เก๋า” กว่าเขาหมด คนในวงอายุรุ่นคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งคุณปู่คุณย่า
เขาเพิ่งหัดคอนด้กท์บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟ่นเป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่ลูกวงอาจจะเล่นกันมาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง
ลูกวงอาจมีชั่วโมงบินมาแล้วเป็นพัน ๆ คอนเสิร์ต แต่ตัวเขาอาจเล่นคอนเสิร์ตไม่เกินสิบครั้ง
แต่ต้องไปยืน “สั่ง” คนแก่กว่าเกือบร้อยคน ในเรื่องที่ตนเองมีประสบการณ์น้อยกว่าเขามาก
และสิ่งหนึ่งที่ “ผู้นำอ่อนหัด” (รวมทั้งตัวผมเองตอนเริ่มฝึกเป็นวาทยกรเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว) ชอบทำพลาดกัน ก็คือ
การ “ได้แต่สั่ง” แต่ไม่ได้สนใจไป make sure ว่า ลูกน้องทำให้ได้ผลอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า
และผลแย่ที่ตามมาก็คือ
ลูกน้องก็เรียนรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องทำตามที่เราบอกก็ได้
ผู้นำก็สูญเสีย authority ลูกน้องไม่เคารพทันที
ยกตัวอย่าง
ถ้าในระหว่างการซ้อมวง คอนดักเตอร์หยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง แล้วบอกคนเล่นฟลุ้ตตัวที่หนึ่งว่า
“ผมอยากให้วลีที่ห้อง 32 โดยให้ช้าลงนิดหน่อยตรงท้ายห้อง” พร้อมทั้งร้องวลีนั้นเป็นการสาธิตให้เสร็จสรรพ
แต่เนื่องจากนักฟลุ้ตคนนั้น อาจเป็นคนแก่ ที่เล่นแบบเดิม ๆ มาเป็นร้อย ๆ ครั้ง กับคอนดักเตอร์อาวุโสมาก ๆ ดังมาก ๆ มาแล้วหลายคน
เข้าทำนอง “ไม้แก่ดัดยาก”
จึงไม่สนใจที่จะฟังเจ้าคอนดักเตอร์หนุ่มคนนี้
เขาคิดว่า “ทำไมเราต้องมาฟังคอนดักเตอร์หน้าใหม่อ่อนประสบกาณ์คนนี้ด้วย (วะ)
เขาเป็นแค่วาทยกรรับเชิญ สัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนคนแล้ว
และวาทยกรคนนี้ก็ไม่ได้จ่ายเงินเดือนเรา ไล่เราออกก็ไม่ได้”
พอคอนดักเตอร์หนุ่มอ่อนหัดบอก “โอเค เราเริ่มกันใหม่อีกที แก้ตามที่ผมบอกนะครับ”
นักฟลุ้ตคนนี้ ก็เป่าอย่างเดิมอย่างหน้าตาเฉย
ตอนนี้แหละเป็นตอนสำคัญที่ผู้นำคนใหม่คนนี้ต้องพิสูจน์ตัวเอง
เขามีทางเลือกสองทาง
หนึ่ง หยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง แล้วตอกย้ำในสิ่งที่เขาต้องการกับบุคคลที่ต้องแก้ไข
แต่ก็เสี่ยง เพราะถ้าไม่มีจิตวิทยาในการพูด ก็จะเสิ่ยงต่อการมีศัตรูเพิ่มหนึ่งคน หรืออาจเป็นทั้งวง
ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำงานก็จะลำบากมาก สัปดาห์นั้นทั้งสัปดาห์อาจจะกลายเป็น “ฝันร้าย”
หรือ
สอง ปล่อยเลยตามเลย จะได้ไม่เสี่ยงต่อการ “เผชิญหน้า”
แต่ก็เสี่ยงอีก เพราะลูกวงก็จะเรียนรู้ว่า “อ้อ ผู้นำคนนี้ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังก็ได้ เขาไม่มาตามเราหรอก เป็นผู้นำที่อ่อนแอ”
แบบที่สองนี้ อาจไม่เห็นผลร้ายในระยะสั้น
แต่นาน ๆ เข้า ลูกน้องหรือลูกวงก็จะหมดศรัทธาในตัวผู้นำ ทั้งวงออร์เคสตร้าก็จะเริ่มเล่นแบบไม่สนใจผลงาน เละ ๆ เทะ ๆ
ผมเอง กว่าจะเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ต้องซื้อมาด้วยประสบการณ์ราคาแพงหลายครั้ง
บางครั้ง ผมหยุดวงออร์เคสตร้าทั้งวง ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นห้าหกครั้ง เพื่อให้คน ๆ เดียวเล่นให้ถูกต้อง
ซึ่งถ้าเจอคนดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเจอคนที่อาจจะ “หมั่นไส้” เราอยู่แล้ว ก็อาจมีเรื่องกันได้
ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ยุทธวิธีที่ดีที่สุดกับแก้ปัญหาแบบนี้ก็คือ
Be firm, but polite. มั่นคง แต่สุภาพ !
1 comment:
เรียน คุณบัณฑิตค่ะ
อยากจะบอกว่าทุกวันนี้ที่เจอปัญหาในการทำงานกับลูกน้องก็เป็นแบบนี้ คือคนที่อยู่มานานเก๋ากว่าไม่ค่อยสนใจเวลาถามเรื่องต่างๆ พยายามหาทางเหมือนกันค่ะว่าเราจะทำยังไง ทั้งสุภาพและให้เกียรติ แต่ตัวเราเองก็พยายามหาความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเราจะได้ทำการตอบปัญหาต่างๆที่ คนในทีมไม่สามารถทำได้
ปล.ติดตามเป็นแฟนคลับของคุณบัณฑิตมานานค่ะ
Best regards,
Samantha
Post a Comment